วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีสอนแบบกรณีศึกษา (Case Based Learning)

วิธีสอนโดยใช้กรณีศึกษา (Case Study Method)

โดย : สุทิน  ณ สุวรรณ

แนวคิด
               การสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างเป็นวิธีสอนที่ใช้กรณีหรือเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงมาดัดแปลงเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักวิธีการคิด วิธีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาในการตัดสินเรื่องหนึ่งเรื่องใด
ลักษณะสำคัญ
               การเรียนการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง เป็นการวิเคราะห์ถามตอบโดยการตั้งประเด็นคำถามกรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างคือกิจกรรมที่รวบเอาการบรรยาย การอภิปราย การโต้วาที และบทบาทสมมุติเข้ามาไว้ในกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด
วัตถุประสงค์
      1) เพื่อเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
      2) เพื่อให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
      3) เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ
      4) เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
ลักษณะห้องเรียน
               หากเป็นการศึกษากรณีเดียวโดยทุกคนทำพร้อมกันก็จัดชั้นเรียนในลักษณะปกติ แต่ถ้าต้องการแบ่งกลุ่มเพื่อศึกษากรณีรายบุคคลแตกต่างกันก็ต้องจัดชั้นเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ตามจำนวนกลุ่มที่แบ่ง
  บทบาทผู้สอน
     1) ผู้สอนเป็นผู้เตรียมกรณีตัวอย่างจากข้อมูลข่าวสาร สื่อ เรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ
     2) ผู้สอนเป็นผู้นำเสนอกรณีให้ผู้เรียนได้ทราบหรืออาจจะมอบให้ผู้เรียนเป็นการสมมุติขึ้นก็ได้
     3) ผู้สอนต้องตั้งคำถามยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงกรณีตัวอย่างนั้นกับเรื่องราวอื่น ๆ
     4) ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเรื่องราวของกรณีตัวอย่างนั้น
     5) ผู้สอนให้ผู้เรียนสรุปแนวคิดที่ได้จากกรณีตัวอย่าง
 บทบาทผู้เรียน
 
   1)  นำเสนอกรณีตัวอย่าง
    2)  ช่วยกันอภิปราย วิเคราะห์
    3)  ช่วยกันสรุปแนวคิดที่ได้
    4)  นำผลที่ได้ไปใช้เชื่อมโยงกับวิชาอื่น ๆ ต่อไป
สื่อการสอนเมื่อสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง
               ในการนำเสนอกรณีตัวอย่างจะใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น วีดิทัศน์ หนังสือพิมพ์ รูปภาพ กราฟฟิก หรือบทบาทสมมุติ ฯลฯ
ข้อดีและข้อจำกัด
 ข้อดี
       1)  ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
       2)  ผู้เรียนได้เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์
       3)  ผู้เรียนได้รู้จักวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
       4)  ทำให้ผู้เรียนได้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
       5)  ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  ข้อจำกัด
       1) หากใช้กับกลุ่มผู้เรียนมากเกินไป ผู้เรียนก็จะแสดงออกไม่ทั่วถึง
       2) หากผู้สอนขาดทักษะในการตั้งคำถามกระตุ้น บรรยากาศของการเรียนรู้ก็เกิดได้ยาก
       3) ถ้าผู้เรียนไม่ร่วมมือ ไม่กระตือรือร้นก็จะทำให้ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้


วิธีสอนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning)

วิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture Method)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น